พระกฤษณะ กับอรชุน ออกศึก ณ ทุ่งกุรุเกษตร |
วันนี้เราจะมาพูดถึง เทพฮินดูองค์หนึ่งที่รู้จักกันมากพอ ๆ กับมหาเทพทั้งสามกัน
พระกฤษณะ จะว่าพระองค์เป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพ ก็ว่ายากอยู่ทีเดียว เพราะพระองค์ทรงเป็นอวตาร ปางที่แปด ของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ที่เรารู้จักกันใน นารายณ์สิบปางนั่นเองค่ะ ผู้คนส่วนมาก มักจะรู้จัก และนิยมยกย่อง เคารพ สักการะพระองค์ในฐานะ ของเทพเจ้าแห่งความรัก พระนามของพระองค์มีเป็นร้อยเป็นพันนาม ซึ่งแต่ละนามก็เกิดขึ้นตามลักษณะเฉพาะองค์บ้าง ตามเหตุการณ์ต่าง ๆ บ้าง ตามคัมภีร์ของพราหมณ์ ว่ากันว่า พระกฤษณะทรงมีชายามากมายนับไม่ถ้วน (กล่าวกันว่าประมาณ หนึ่งหมื่นหกพันนาง) ในขณะเดียวกันพระองค์ ก็สามารถที่จะแบ่งพระวรกายได้หนึ่งหมื่นหกพันภาคเพื่อไปดูแลนางเหล่านั้นให้ชุ่มชื่นหัวใจ อย่างทั่วถึงกันด้วย นับว่าเป็นอะไรที่สุดยอดมากมาย ฮ่า ๆ
พระกฤษณะทรงเป็นเชื้อสายสกุลยาทพ ซึ่งแตกแขนงมากจากต้นสายเดียวกันกับ ราชวงศ์กุรุ ของกรุงหัสตินาปุระ โดยมีต้นตระกูลคนเดียวกันคือ ท้าวภรต (ถ้าใครเคยอ่านศกุลตลา และยังจำกันได้ ท้าวเธอองค์นี้ ก็คือโอรสของท้าวทุษยันต์ กับคนงามศกุลตลานั่นเอง) โดยตามท้องเรื่องในมหาภารตะ ระบุว่าทรงปกครองกรุงทวารกา ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งทะเล เดิมที คำว่ากฤษณะนั่น แปลว่าผู้มีผิวคล้ำ ดังนั้นเราจึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมรูปลักษณ์ของพระองค์จึงเป็นชายผิวคล้ำ ทรงเครื่องอาภรณ์วรรณะกษัตริย์ พระกฤษณะ ทรงมีพระเชษฐาองค์หนึ่งคือ พลราม ซึ่งก็คือพระยานาควาสุกรี พระแท่นบรรทมของพระวิษณุนั่นเอง ที่แบ่งภาคลงมาช่วยพระวิษณุปราบยุคเข็น
อรชุน มาถึงอรชุน ท้าวองค์นี้ ถ้านับเรียงตามลำดับเครือญาติจริง ๆ แล้ว มีศกดิ์เป็นลูกพี่ลุกน้องกับพระกฤษณะนั่นเอง อรชุน เป็นโอรสของที่สาม ในนามของท้าวปาณฑุ กับพระนางกุนตี ซึ่งทั้งนี้นั่น เพราะท้าวปาณฑุนั่น ท้าวเธอมีเหตุให้ต้องคำสาป จนไม่อาจสามารถร่วมหลับนอนกับชายาองค์ใดได้ มิเช่นนั้นพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์ พระนางกุนตีซึ่งมีมนต์วิเศษ (ได้มาจากฤาษีทุรวาส อวตารปางหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งมองเห็นอนาคต ว่าต่อไปนางกุนตีจะมีปัญหาเรื่องการมีบุตรสืบสกุล จึงให้สอนคาถาให้นางสามารถเรียกเทพเทวดา องค์ใดมาประทานบุตรนางก็ได้) จึงใช้มนต์ของนางอัญเชิญเทพมาประทานบุตรให้นาง โดยบุตรที่ได้จากเทพกับพระนางกุนตีนั้นมีด้วยกันสามองค์ คือ
อัญเชิญ พระธรรมเทพ (พระยมราช) มา ได้บุตรชาย คนโตคนแรก คือ ยุธิษฐิระ หรือ ยุธิษเฐียร
อัญเชิญ พระวายุ (พระพาย) มา ได้บุตรคนที่สอง คือ ภีม หรือ ภีมะ
อัญเชิญ พระอมรินทร์ (พระอินทร์) มา ได้บุตรคนที่สาม คือ อรชุน หรือ ปรันตปะ
ทั้งนี้แล้ว นางมาทรี ชายาองค์รองของท้าวปาณฑุ ซึ่งไม่มีมนต์วิเศษใด ๆ รู้สึกบกพร่องต่อหน้าที่ อยากมีบุตรให้กับสวามีบ้างจึงขอให้นางกุนตีสอนมนต์ให้ จึงได้อัญเชิญเทพอัศวินฝาแฝดมา ประทานบุตร ได้บุตรฝาแฝดสองคน คือ นกุล และสหเทพ
โดยรวม ๆ แล้วมักจะเรียกห้าพี่น้องนี้ว่าพวก ปาณฑพ คือบุตรแห่งปาณฑุนั้นเอง ทีนี้เราอาจจะสงสัยว่าแล้ว อรชุนคนนี้ เป็นญาติทางไหนของพระกฤษณะกัน ก็ต้องบอกเลยว่า พระนางกุนตีมารดาของอรชุนนั้น เป็นน้องสาวแท้ ๆ ของท้าววาสุเทพ พระบิดาของพระกฤษณะนั่นเอง
ท้าวอรชุนนั้น ด้วยความที่เป็นบุตรของพระอินทร์ ซึ่งชาญณรงค์ รบเก่งอยู่แล้ว จึงพลอยเก่งกาจด้านการรบ ตามบิดาแท้ ๆ ไปด้วย โดยอาวุธคู่กายที่ถนัดที่สุดของท้าวเธอ ก็เห็นจะเป็น ธนู นั่นเอง อรชุนมีคันธนูคู่กาย ชื่อ คาณฑีพ หรือ คาณฑีวะ ซึ่งว่ากันว่า ดึงแล้วปล่อยครั้งหนึ่ง จะเกิดเสียงดังสะเทือนถึงสวรรค์เลยทีเดียว
เล่าเอาเป็นความสั้น ๆ เมื่อเกิดมหาสงครามขึ้น ที่ ณ ทุ่งกุรุเกษตรนั้น พระกฤษณะได้บอกกับพระญาติทั้งหลายว่า จะไม่ขอจับอาวุธ ใด ๆ เข้าประหัตประหารทั้งสิ้น เพราะ เการพ และปาณฑพ ต่างก็เป็นเชื้อวงศ์กุรุ ร่วมสายโลหิตท้าวภรต ร่วมกันกับพระองค์
เการพ เป็น ชื่อเรียก ศัตรูของเหล่าปาณฑพ หมายถึง โอรสร้อยองค์ของราชาพระเนตรบอด ท้าวธฤตราษฎร์ กับพระนางคานธารี ซึ่งท้าวธฤตราษฎร์นั้น ก็คือ เชษฐาแท้ ๆ ต่างมารดาของ ท้าวปาณฑุนั่นเอง ดังนั้นเจ้าเการพร้อยองค์ อันมี ทุรโยธน์ เป็นพี่คนโต จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพวกปาณฑพอีกที (อันที่จริงแล้วถ้านับตามเวลาเกิดยุธิษฐิระ พี่ชายคนโตของพวกปาณฑพนั่นเกิดก่อน แต่ในขณะที่เกิด นั้นท้าวปาณฑุได้เนรเทศพระองค์เองไปอยู่ป่า เพราะต้องคำสาป ยกบัลลังก์แคว้นกุรุให้แก่ท้าวธฤตราษฎร์แทน ซึ่งจากปมดังกล่าว เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าปาณฑพกลับเข้าเมืองมา จึงเกิดข้อพิพาทว่าใครคือ รัชทายาทที่แท้จริง ทำให้ทุรโยธน์เกรงกลัวว่าบัลลังก์แคว้นกุรุของบิดาตน จะไม่ตกเป็นของตัวเอง จึงตั้งตนเป็นศัตรู และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดปาณฑพทั้งห้าองค์ออกไปจากราชบัลลังก์ )
ทั้งนี้แล้ว ในท้ายที่สุดเมื่อต้องเลือกฝ่ายจริง ๆ แม้ว่าพระกฤษณะจะสนิทสนมกับฝ่ายปาณฑพมากกว่าเพราะ เป็นญาติใกล้ชิดกว่า แต่พระองค์ก็ยังเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้เลือก โดยพระองค์เสนอตัวเลือกสองอย่างให้กับทั้งสองฝ่ายคือ ตัวพระองค์เอง ซึ่งจะไม่จับอาวุธใด ๆ ทั้งสิ้น กับกองทัพ นารายณีเสนา ของพระองค์ โดยอรชุนเลือกพระกฤษณะ โดยขอให้พระองค์มาทำหน้าที่สารถีให้แก่ตน ฝ่ายทุรโยธน์ ซึ่งประสงค์กองทัพมากกว่าจึงได้ทัพนารายณีเสนาสมใจไป